สรุปการขอเข้ารับคำปรึกษา ที่คลินิกให้ปรึกษาด้านการค้าการลงทุนในกัมพูชา ครั้งที่ 2
DATE : 14/1/2015 TIME : 19:48
สรุปการขอเข้ารับคำปรึกษา ที่คลินิกให้ปรึกษาด้านการค้าการลงทุนในกัมพูชา
วันจันทร์ที่ 13 ตุลาคม 2557 ณสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชา ประจำประเทศไทย
ประเด็นคำถามหลัก
- การเข้าไปลงทุนธุรกิจขนาดใหญ่ที่กัมพูชา ควรจะติดต่อกับใครจึงจะเชื่อถือได้มากที่สุด
- การเข้าไปทำธุรกิจในกัมพูชา ควรจะทำการขยายตลาดด้วยวิธีใดจึงจะดีที่สุด
- หาคู่ค้า
- เข้าไปลงทุนด้วยตนเอง
- โอกาสและอุปสรรคทางการค้าเมื่อเข้าไปลงทุน
- ถ้าต้องการลงทุนที่กัมพูชา และขยายต่อไปยังประเทศลาว เวียดนาม ควรจะไปตั้งโรงงานที่ไหน
บทสรุป
- การเข้าไปลงทุนธุรกิจขนาดใหญ่ในกัมพูชา เช่น ธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้า พลังงานทดแทนนั้น ถึงแม้จะมีการติดต่อกับผู้ที่ต้องการทำธุรกิจด้วยไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ก็ควรตรวจสอบประวัติและข้อมูลให้ละเอียด เนื่องจากเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มีต้นทุนในการลงทุนและความเสี่ยงสูง ควรไปติดต่อกับรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานโดยตรง แล้วนำไปศึกษาเพิ่มเติมตามข้อมูลที่ได้รับมา เพราะระบบไฟฟ้าทั้งหมดอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลการติดต่อสอบถามข้อมูลกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่เกี่ยวข้องโดยตรงจะได้ข้อมูลที่เชื่อถือได้และสามารถไว้ใจได้มากกว่าติดต่อกับระดับนักธุรกิจ
- การเข้าไปทำธุรกิจในกัมพูชา สามารถเข้าไปได้ทั้งการหาคู่ค้าและการเข้าไปลงทุนด้วยตัวเอง หากแต่การเปิดบริษัทในนามบริษัทใหม่จะดำเนินการได้สะดวกกว่า โดยควรเดินทางไปสำรวจตลาด เพื่อจะได้ทราบถึงลู่ทางในการลงทุน และคู่แข่งในการทำธุรกิจ ในขณะเดียวกันก็จะสามารถหาตลาดและเจาะลูกค้าได้อย่างถูกจุด ว่าควรนำสินค้าชนิดใดไปขายได้บ้าง เนื่องจากสินค้าบางอย่างกัมพูชาก็มีตลาดอยู่แล้ว และบางอย่างอาจจะสู้สินค้าเวียดนามไม่ได้ ส่วนการหาคู่ค้าในประเทศกัมพูชานั้น มีขั้นตอนที่ค่อนข้างวุ่นวายและอาจถูกโกงได้ง่าย สำหรับราคาที่ดินของกัมพูชาในปัจจุบันยังมีราคาที่ดินที่ค่อนข้างสูง และกรรมสิทธิ์ที่ดินยังเป็นของคนกัมพูชาอยู่ ซึ่งคนต่างชาติจะสามารถทำได้เพียงเช่าที่ดินจากคนกัมพูชา แต่หากเข้าไปลงทุนในสาขาที่รัฐบาลกำหนดไว้ก็จะมีสิทธิ์ถือสัญชาติกัมพูชา
- อุปสรรคในการลงทุนในกัมพูชาคือ สินค้าบางอย่างมีตลาดอยู่แล้ว โดยเวียดนามครองตลาดอยู่ เนื่องจากมีราคาที่ต่ำกว่า เมื่อเทียบกับสินค้าที่ผลิตโดยไทย ดังนั้น ควรจะทำการศึกษาตลาดก่อนไปลงทุนและควรตั้งราคาสินค้าให้ไม่สูงกว่าเวียดนามจนเกินไป เพราะคนกัมพูชานิยมบริโภคสินค้าไทยมากกว่า เพราะเชื่อว่าสินค้าไทยมีคุณภาพดีกว่าสินค้าเวียดนาม หากมีราคาสูงกว่าสินค้าเวียดนามไม่มาก ก็จะสามารถทำตลาดได้ นอกจากนี้ประเทศกัมพูชามีค่าไฟที่สูง หากเข้าไปทำธุรกิจหรือตั้งโรงงานที่ต้องพึ่งพาไฟฟ้ามาก ก็จะต้องเผชิญกับปัญหาราคาค่าไฟที่แพงกว่าไทยเป็นเท่าตัวในเรื่องของค่าแรงของกัมพูชาที่ต่ำกว่าค่าแรงในไทยนั้นจะต้องพิจารณาด้วยว่า ถึงแม้ค่าแรงจะต่ำกว่าแต่คุณภาพของแรงงานนั้นมีคุณภาพมากน้อยเพียงใด แม้ราคาจะต่ำกว่าแต่หากแรงงานไม่มีคุณภาพก็จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ และระบบใต้โต๊ะของกัมพูชาก็ยังมีให้เห็นอยู่มาก
- กัมพูชาเป็นประเทศที่มีรูปร่างค่อนข้างกลมซึ่งจะอำนวยความสะดวกต่อการกระจายสินค้า เช่น การตั้งโรงงานที่พนมเปญและหาตัวแทนจากจังหวัดอื่นๆมารับสินค้าไปขายต่อ เพราะการขนส่งในกัมพูชานั้นสามารถขนส่งได้อย่างสะดวก นอกจากนี้ หากต้องการที่จะขายสินค้าต่อไปยังประเทศลาวหรือเวียดนาม การตั้งโรงงานในพนมเปญจึงเป็นทางเลือกที่ดี เนื่องจากสามารถเดินทางไปลาวและเวียดนามได้สะดวก โดยเฉพาะการเดินทางไปนครโฮจิมินห์ ซึ่งสามารถเดินทางจากพนมเปญเข้านครโฮจิมินห์ได้ทั้งทางบกและทางน้ำการเข้าไปตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดสวายเรียงก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะสินค้าส่วนหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมนี้ก็เข้าไปยังเวียดนาม ถึงแม้ว่าจีนจะเป็นเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมแต่ก็มีโรงงานต่างชาติเข้าไปตั้งเช่นกัน